หมาป่า
by เจียงหรง เขียน /สุภาณี ปิยพสุนทรา แปลแปลจากภาษาจีน Lang Tu Teng (Wolf Totem) by Jiang Rong
หลังปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงทศวรรษที่ 1960 นักศึกษาปัญญาชนทั่วประเทศจีนได้ขานรับคำเรียกร้องจากท่านประธานเหมา ออกสู่ชนบท ใช้ชีวิตเฉกผองพี่น้องชาวนาและกรรมาชีพ ขัดล้างคราบความคิดและวิถีชีวิตศักดินา
เฉินเจิ้น—นักศึกษาจากปักกิ่ง—เป็นหนึ่งในบรรดาปัญญาชนที่อาสาไปใช้แรงงานเลี้ยงปศุสัตว์ บริเวณตะเข็บชายแดนมองโกเลียในอันห่างไกลความเจริญที่ทุ่งหญ้าเอ้อหลุน เฉินเจิ้นไม่เพียงแค่ปรับตัวเรื่องกินอยู่ เรียนรู้เคารพธรรมเนียมและความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่ามองโกล เขาหลงใหลหมาป่า ศึกษาพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของหมาป่ากับชาวปศุสัตว์เร่ร่อนอย่างใกล้ชิด ทั้งยังพยายามเลี้ยงลูกหมาป่าไว้ตัวหนึ่งด้วย เขายังดื่มด่ำกับเสรีภาพของนายพรานนักล่ากับฝูงหมาป่าที่อยู่ร่วมกัน ขับเคี่ยวแบ่งปันช่วงชิงรวมถึงการพิทักษ์สมดุลธรรมชาติของทุ่งหญ้า
เฉินเจิ้นได้เข้าถึงกลยุทธพิชัยหมาป่าศาสตร์แห่งการอยู่รอดในความอัตคัต ดินฟ้าอากาศอันทารุณ ศาสตร์ลึกลับอันเป็นแรงขับเคลื่อนที่นำมาถึงการรุกรบบรรลือโลกในประวัติศาสตร์ของจอมจักรพรรดิ์เจงกิสข่าน แต่แล้วความสันโดษสันติและสมดุลของทุ่งหญ้าก็ถูกเบียดเบียนจากชาวมองโกลและฮั่นย้ายถิ่น ความเจริญทางวัตถุและการกสิกรรมที่ถูกนำมาด้วยบดขยี้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมองโกลเจ้าถิ่น และขับฝูงหมาป่า—ตัวแทนเทพเจ้า—ผู้พิทักษ์ทุ่งหญ้าไปจนหมดสิ้น
หมาป่า เป็นนวนิยายที่ตื่นตาตื่นใจในผู้อ่านชาวจีนหลังจากออกวางตลาด พ.ศ. 2547 ไม่นานก็ไต่อันดับเป็นหนังสือขายดีในประเทศจีน มียอดจำหน่ายกว่าหนึ่งล้านเล่ม หมาป่า ได้รับรางวัลวรรณกรรมหลายรางวัล รวมทั้งเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ได้รับรางวัล The Man Asian Literary Prize
เจียงหรงเกิดเมื่อ พ.ศ. 2489 ที่เจียงสู ครอบครัวย้ายเข้าไปอยู่ปักกิ่ง พ.ศ. 2500 เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรส่วนกลาง พ.ศ. 2509 แต่หยุดเรียนในปีต่อมาไปเป็นปัญญาชนอาสาสมัครรุ่นแรกที่ออกไปใช้แรงงานในชนบท เจียงหรงใช้แรงงานที่ทุ่งหญ้าชายแดนระหว่างมองโกเลียในและมองโกเลียนอกอยู่สิบเอ็ดปี เมื่อกลับมาปักกิ่ง พ.ศ. 2521 จึงกลับไปเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ที่สถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีนอันมีชื่อเสียง แล้วเข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งจนเกษียณเมื่อ พ.ศ. 2549 ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ที่ปักกิ่งกับภรรยา
ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องหมาป่า
Share this item: