ตำราเรียนอักขระล้านนาไทย
by Singkha Wannasai
1 ก.พ. 65 หนังสือปรับราคาขึ้นเป็น 395 บาท จาก 295 บาท เนื่องจากต้นทุนการจัดพิมพ์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้แต่ง สิงฆะ วรรณสัย
บรรณาธิการ Volker Grabowsky
อนุสรณ์ครบรอบ ๑๐๐ ปี อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย (พ.ศ. ๒๔๖๓–๒๕๒๓)
“ตำราเรียนอักขระล้านนาไทย” นี้ ผู้แต่งคืออาจารย์สิงฆะ วรรณสัย พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์เนื้อหาคำอธิบายเป็นภาษาไทยบนกระดาษไข และเขียนอักขระตัวเมืองหรืออักษรธรรมล้านนาด้วยลายมือ เป็นตำราที่นักเรียน นักศึกษาใช้เรียนสืบต่อกันมาหลายรุ่น และเว้นช่วงการพิมพ์มากว่า ๔๐ ปี กระทั่งทายาทและบรรดาลูกศิษย์มีความเห็นว่าสมควรจัดทำขึ้นใหม่ โดยที่ยังคงรักษาเนื้อหา คำอธิบายไว้อย่างเดิม แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น
อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย (๒๔๖๓–๒๕๒๓) เกิดที่จังหวัดลำพูน ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปี ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนประตูลี้ และระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดพระธาตุหริภุญไชย จากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ ๒๑ ปี เมื่อสำเร็จนักธรรมเอกเปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้วก็ได้ไปศึกษาต่อจนสำเร็จด้านเปรียญธรรม ๔ ประโยคที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
ต่อมา อาจารย์สิงฆะกลับลำพูน สามารถสอบเปรียญธรรม ๕ ประโยคและสอบผ่านประโยคครูประถม เมื่ออายุ ๒๕ ปี ก็ได้ลาสิกขาบท และรับราชการครู จากนั้นได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้ตรวจการศึกษาอำเภอ เป็นผู้ช่วยศึกษาธิการ และเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดสันริมปิง อำเภอเมือง ลำพูน ก่อนจะลาออกเมื่อปี ๒๕๑๓ แต่ก็ยังคงรับเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลายสถาบัน
อาจารย์สิงฆะมีความสนใจในศาสตร์หลายแขนง อาทิ ศึกษาภาษาบาลีด้วยตนเอง โดยได้คิดวิธีแปลข้อความภาษาบาลีเป็นภาษาไทยแบบที่ยังคงแบบแผนเดิมไว้ได้ และได้เรียนภาษาอังกฤษกับครูแขกชื่อ มานิคัม เรียนอักษรล้านนาจากผู้รู้ทุกวัยตั้งแต่สามเณรจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ศึกษาภาษาล้านนาโบราณจากวรรณกรรม ศึกษาทำนองเทศน์มหาชาติ ศึกษากวีนิพนธ์ด้วยฉันทลักษณ์แบบภาคกลาง มีความเชี่ยวชาญการแต่งร่ายคำเวนทาน คำเรียกขวัญ ที่มีคำสละสลวย มีความหมาย และเนื้อหาที่แจ่มชัด และมักจะได้รับเชิญให้เป็นผู้เวนทานในโอกาสและพิธีกรรมสำคัญๆ ทั่วภาคเหนือ
ผลงานของอาจารย์สิงฆะมีอยู่มากมาย อาทิ คำเวนทาน คำเรียกขวัญ คำร่ำสลากย้อม วรรณกรรมคร่าวซอ คร่าวพญาพรหม นิราศต่างๆ เช่น นิราศบ้านโฮ่ง นิราศเดือนเมืองเหนือ นิราศรัก นิราศวังมุย นิราศเหมืองง่า นิราศเชียงราย นิราศเมืองศีล นิราศเมืองลี้ ทั้งยังมีผลงานการปริวรรตอีกเช่น ตำนานพญาเจือง พรหมจักร โครงมังทรารบเชียงใหม่ คร่าวร่ำครูบาศรีวิชัย ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานจามเทวีวงศ์ ฯลฯ นอกเหนือจากนี้ อาจารย์สิงฆะยังมีส่วนในการสำรวจ คัดคัมภีร์ใบลานทั่วภาคเหนือ เพื่อถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม อันเป็นการอนุรักษ์เอกสารตัวเขียนที่สำคัญมากไว้ ให้เป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาภาษาล้านนา และสังคมประวัติศาสตร์ภาคเหนือในทุกวันนี้
Share this item: