คำถามสุดท้ายของคัทลิน
by สุกัญญา หาญตระกูลนางฟ้าของยูริ พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2528 ในนิตยสาร สตรีสารใช้นามปากกา แปงคำ เมื่อบรรณาธิการ สตรีสาร คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ถามว่า “ยังมีเรื่องจะเล่าต่ออีกไหม” อีก 4 เรื่องจึงได้เขียนตามกันออกมาและตีพิมพ์ใน สตรีสาร ทุกเรื่อง
ทิ้งช่วงหลายปี สุกัญญา หาญตระกูล ได้เขียนอีก 2 เรื่องไว้คือ ดิยาดิยะ คนเดียวของหลาน และ คำสั่งเสียของยูริ เพื่อให้เรื่องราวของ “ยูริ กรานอฟ” ตัวละครเอกในวัยไม้ใกล้ฝั่งได้จบลงอย่างบริบูรณ์ โดยมิได้ตีพิมพ์ที่ใด นับตั้งแต่วันที่เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นแรงบันดาลใจให้สุกัญญา เขียน พินัยกรรมของคัทลิน ซึ่งได้นำมารวมเล่มตีพิมพ์ด้วยกันให้เรื่องราวของสองผู้เฒ่า ยูริ-คัทลิน ได้จบบริบูรณ์ในเล่มนึ้
สุกัญญา หาญตระกูล อดีตบรรณาธิการร่วม สตรีสาร (2528–34) มีผลงานเขียน ปัญญาแห่งยุคสมัย คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง (2558) และ ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า : จารึกโรงสี ลูกจีนโพ้นทะเล (2563)
สารบัญ
- พินัยกรรมของคัทลิน
- วันกลับบ้าน
- นางฟ้าของยูริ
- ห้องนอนแห่งใหม่
- น้ำชาถ้วยหนึ่ง
- ดิยาดิยะ คนเดียวของหลาน
- คำสั่งเสียของยูริ
- คำถามสุดท้ายของคัทลิน
คำนำ
ปีที่เริ่มเขียนเรื่อง “นางฟ้าของยูริ” และพิมพ์เผยแพร่ในนามปากกา ‘แปงคำ’ เมื่อ พ.ศ. 2528 ผู้เขียนอายุ 32 ปี ด้วยคำถามของบรรณาธิการ สตรีสารคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้ตรวจแก้ต้นฉบับและตีพิมพ์เผยแพร่ในขณะนั้นที่ว่า “ยังมีเรื่องจะเล่าต่ออีกไหม” อีก 4 เรื่องจึงได้เขียนตามกันออกมาและตีพิมพ์ใน สตรีสาร ทุกเรื่อง
ทิ้งช่วงหลายปีหลังจากนั้น ก็ได้เขียนอีก 2 เรื่องไว้ คือ “ดิยาดิยะ คนเดียวของหลาน” และ “คำสั่งเสียของยูริ” เพื่อให้เรื่องราวของ “ยูริ กรานอฟ” ตัวละครเอกในวัยไม้ใกล้ฝั่ง ได้จบลงอย่างบริบูรณ์ แม้รู้ว่าอาจจะไม่มีที่ไหนตีพิมพ์ให้และอาจไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ที่ไหนเลยอีกก็ได้
ณ วันนี้ พ.ศ. 2566 ในวัยที่ผู้เขียนย่างเข้าสู่วัยเดียวกับตัวละครทั้งสองที่เขียนถึง ผ่านการได้เห็นได้อ่านพินัยกรรมมาหลายฉบับรวมทั้งได้เริ่มคิดเริ่มทำพินัยกรรมฉบับของตัวเองด้วย จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่อง “พินัยกรรมของคัทลิน” ซึ่งได้เขียนขึ้นใหม่ล่าสุดในวันที่เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อเติมเต็มชีวิตคู่วัยชราของ “ยูริ-คัทลิน” ในชุดเรื่องแต่งที่เคยเขียนไว้ การรวบรวมพิมพ์เรื่องสั้น 8 เรื่องโดยมีตัวละครชุดเดียวกันแต่เขียนต่างกาลเวลากันในช่วง 38 ปี ทำให้รู้สึกเหมือนว่าได้ทำหน้าที่ของนักเขียนอย่างดีที่สุดแล้วคือแต่งเรื่องที่ได้เริ่มต้นไว้จนจบ จากนี้ไป วัยชราภาพของตัวละคร ยูริ-คัทลิน ที่ยังมีอยู่ในใจเสมอมาและแจ่มชัดยิ่งขึ้นเมื่อผู้เขียนได้เริ่มลิ้มรสวัยสูงอายุของตนเอง ก็จะได้มีชีวิตที่สมบูรณ์โลดแล่นอยู่ต่อไปได้ในโลกของเรื่องแต่ง
สุกัญญา หาญตระกูล
กรุงเทพฯ
8 มีนาคม 2566
Share this item: